ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวัน (Lumbini Vana) หรือ รุมมินเด เป็นหนุึ่งใน 4 สังเวชนียสถานของพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญที่สุด เป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพุทธสังเวชนียสถานหนึ่งเดียวที่อยู่ในเนปาลนอกประเทศอินเดีย
วิหารมายาเทวี สถานที่ประสูติ
สระน้ำโบกขรณี
เสาอโศก ลุมพินีวัน
ลานต้นโพธิ์
ลุมพินีวัน เดิมคือเป็นสวนป่าหรือวโนทยานริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ อยู่ในเขตปกครองของอำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล อยู่ติดเขตชายแดนทางเหนือของเมืองโคราหะปุระ ประเทศอินเดีย
ลุมพินีวัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากเมืองติเลาราโกตหรือ นครกบิลพัสดุ์ ประมาณ 11 กิโลเมตร และห่างจากเมืองสิทธารถนคร หรือ นครเทวทหะ ทางทิศตะวันตก 11 กิโลเมตร ตรงตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ระบุไว้ว่า ลุมพินีวันสถานที่ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ โดยมีสิ่งที่น่าสนใจในลุมพินีวัน ได้แก่
วิหารมายาเทวี สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระนางสิริมหามายา พระมารดาของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมภายในวิหารมายาเทวีได้ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปโดยเด็ดขาด ภายในวิหารมายาเทวีมี
รูปปั้นของพระนางมายาเทวี ขณะพระองค์กำลังให้พระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ มีขนาดเท่าคนจริงเชื่อว่าได้ถูกสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 4
แผ่นศิลาหมาย เป็นแท่นศิลาขนาดประมาณ 5×5 นิ้ว ที่เชื่อว่าเป็นรอยพระบาทของพระกุมารสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติ มีการตรวจสอบหินนี้ยืนยันว่ามีอายุเกิน 2,000 ปีมาแล้ว เป็นตำแหน่งสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของลุมพินีวัน วางระบุตำแหน่งประสูติของพระพุทธเจ้าที่ชัดเจนแน่นอน
สระปุสกรรณณิ (Puskarni Pound) หรือ คนไทยเรียกสระน้ำโบกขรณี อยู่ด้านหลังของวิหารมายาเทวี เมื่อออกมาจากตัววิหารจะเจอสระน้ำโบกขรณี สระศักดิ์สิทธิ์ที่พระนางมายาเทวีได้ลงสรงน้ำก่อนที่จะมีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ถัดจากสระน้ำโบกขรณีจะมีต้นโพธิ์และสวนที่ร่มรื่นที่มีผู้แสวงบุญนิยมไปนั่งสวดมนต์บูชาสรรเสริญพระพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย
เสาอโศก เป็นเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างขึ้นมาเพื่อประกาศสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาและมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง บนเสาอโศกต้นนี้มีการจารึกเป็นอักษรพราหมณ์ที่แปลได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่นี่
ในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบของวิหารมายาเทวี พบร่องรอยสถูปเจดีย์และสังฆาวาสสร้างขึ้นล้อมรอบสถานที่ประสูติ ถึงแม้ว่าจะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาแต่ก็เป็นหลักฐานสำคัญชี้ให้เห็นว่า มีผู้ที่นับถือศรัทธาพยายามเข้ามามาอยู่ใกล้ๆ สถานที่ประสูติอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
พระพุทธเจ้าน้อย (Baby Buddha) หรือ พระพุทธรูปปางเจ้าชายสิทธัตถะประสูติประทับยืนชี้พระหัตถ์ขวาขึ้นฟ้า เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นเอกบุรุษหนึ่งเดียวของโลก ตามอาสภิวาจาว่า “เราจะเป็นผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ ผู้ดีที่สุดแห่งโลกนี้” และชี้พระหัตถ์ซ้ายลงดินกล่าวว่า “การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปเราจะไม่เกิดอีก”
พระพุทธเจ้าน้อย สร้างโดยคณะผู้ศรัทธาชาวไทยนำมาประดิษฐานไว้ที่ลุมพินีวันเมื่อปี พ.ศ. 2556 เป็นศิลปะการสร้างที่มีความสวยงามอลังการแบบไทย เป็นจุดสำคัญอีก 1 แห่งในลุมพินีวันที่คณะผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ต้องแวะไปชื่นชมงานพุทธศิลป์ที่สวยงามมาก
เปลวไฟสันติภาพอันเป็นนิรันดร์ (Eternal Peace Lamp) ตั้งอยู่ถัดมาไม่ไกลจากพระพุทธเจ้าน้อย สร้างขึ้นในโอกาสปีแห่งสันติภาพโลกโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1986 ถูกจุดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาติ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2529 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีคยาเนนทรพีรพิกรมศาหเทว์ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเนปาล ขณะทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารและพระองค์ได้นำเปลวไฟนี้กลับมายังลุมพินีวัน ผ่านการส่งต่อโดยนักกรีฑาจากทั่วโลกรวม 54 ประเทศมายังลุมพินีวัน นับตั้งแต่เปลวไฟแห่งสันติภาพนี้ถูกจุดขึ้นมาก็ยังคงลุกโชนเรื่อยมาไม่เคยดับเลย
ด้านหลังของเปลวไฟแห่งสันติภาพ คือสระน้ำเชื่อมต่อเป็นลำคลองเรียกว่า Central Canal กินพื้นที่แกนกลางของลุมพินีวันราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด ด้านฝั่งตะวันตกของคลองคือวัดของประเทศต่างๆ ในนิกายมหายาน ส่วนฝั่งตะวันออกของลำคลองจะเป็นที่ตั้งของวัดในนิกายเถรวาทซึ่งก็มีวัดไทยตั้งอยู่ด้วยชื่อว่า วัดไทยลุมพินี
ระฆังสันติภาพ อยู่ห่างจากเปลวไฟสันติภาพอันเป็นนิรันดร์ประมาณ 25 เมตร ระฆังสันติภาพถูกสร้างโดยชาวธิเบตเพื่อสักการะแด่พระรัตนไตร เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพชั่วนิรันดร์ และเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรเนปาลดินแดนแห่งการอุบัติของพระพุทธเจ้า โดยทุกครั้งที่มีเสียงระฆังดังขึ้นก็เปรียบกับพระพุทธวจนะที่ดังก้องกังวานผ่านถ้อยคำสวดในพระสูตร เข้าไปในหัวใจของผู้สาธยายมนต์
สนใจไปร่วมแสวงบุญตามรอยเส้นทางของพระพุทธเจ้า สักการะ 4 สังเวชนียสถานและสถานที่สำคัญทางพุทธประวัติอีกมากมายในประเทศอินเดียและเนปาล รับจำกัดจำนวนไม่เกิน 28 ท่าน เดินทางในช่วงเดือน พฤศจิกายน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 วัน ค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทางรวมค่าวีซ่าประมาณ ท่านละประมาณ 36,900 บาท (เริ่มต้นและจบโปรแกรมที่สนามบินกรุงเทพ ดอนเมือง/สุวรรณภูมิ และค่าใช้จ่ายแปรผันตามค่าตั๋วสายการบินที่จองเดินทาง)
หมายเหตุ ตารางกิจกรรมในแต่ละวันอาจมีการปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลและค่าเดินทางอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของสายการบินที่จอง
ติดต่อจองที่นั่งเดินทางไปร่วมแสวงบุญตามรอยเส้นทางพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่เบอร์โทร. 0846259929 หรือLine ID เบอร์โทร. 0846259929